วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557


 ๑๕. หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีหลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีที่ประชาชนคนไทยเคารพเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุสัมฤทธิ์ปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๑ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว ศิลปะเชียงแสน ยังไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือรูปปั้น
เพราะปัจจุบันปิดทองที่องค์พระพุทธรูปองค์จริงเป็นทองคำหรือทองสัมฤทธิ์ จากนิราศสุนทรภู่ มีความว่า
"ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะเคราสวาท
มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
พอจวนพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
ขึ้นไปไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลือมาแต่บุราณ
ใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อน..."

คนโบราณเกรงจะสูญหายจึงทำองค์ใหญ่หุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ดังที่ปรากฏตามประวัติดั้งเดิมของหลวงพ่อวัดเขาตะเครา ที่เล่ากันสืบมานั้น
ได้มีการเล่าเป็นนิยายปรำปราดังนี้

เล่ากันว่าเดิมทีเดียวนั้นมีพระสงฆ์สององค์ สามเณร ๑ องค์ เป็นพี่น้องกัน ซึ่งมีฤทธิ์เดชเวทย์มนต์แรงกล้ามากทั้งสามองค์ได้ทดลอง
วิชากัน องค์ที่ทำน้ำมนต์ไว้สั่งองค์ที่สองว่าถ้ากระโดดลงไปในน้ำแล้วกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาให้ใช้น้ำมนต์รดลงไปจึงจะกลับ
เป็นสงฆ์ตามเดิม เมื่อองค์ที่กระโดดลงไปในน้ำนั้นและกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาจริงๆ แล้ว องค์ที่ ๒ ไม่รดน้ำมนต์และว่าเมื่อ
พี่ทำได้ตนก็ทำได้ องค์ที่ ๒ จึงสั่งองค์ที่ ๓ ที่เป็นเณรว่าถ้ากระโดดลงไปและกลายเป็นพระพุทธรูปขึ้นมาแล้วให้ใช้น้ำมนต์รด แล้วองค์
ที่ ๒ ก็กระโดดลงไปในน้ำและกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาอีก องค์ที่ ๓ ที่เป็นเณรเห็นดังนั้นก็ว่าพี่ๆ ทำได้ตนก็ทำได้จึงกระโดด
ลงไปบ้าง ก็กลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาเมื่อไม่มีองค์ใดเอาน้ำมนต์ลง เช่นนี้จึงกลายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำเช่นนั้น

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านเพชรจังหวัดเพชรบุรีอพยพหนีพม่าไปตั้ง บ้านเรือน
อยู่ที่ ปากคลองแม่กลองอำเภอเมืองสมุทรสงคราม เดิมชื่อวัดศรีจำปา ปัจจุบันเรียกวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทร ปัจจุบันวัดศรี
จำปานี้เป็นวัดร้างเพราะทรุดโทรม ชาวบ้านแหลมอพยพไปอยู่ได้ช่วยกันบูรณะ ก่อสร้างใหม่แล้วให้ชื่อว่าวัดบ้านแหลมเป็นอนุสรณ์
ของชาวบ้านแหลมเป็นผู้สร้าง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นวัดเพชรสมุทร วันหนึ่งชาวบ้านแหลมเหล่านี้ซึ่งมีอาชีพทางประมงออกไปเที่ยว
หาปลาลากอวน ไปพบพระพุทธรูปยืนจึงนำพระพุทธรูปองค์ยืนไปประดิษฐานไว้ที่ ณ วัดบ้านแหลม(วัดศรีจำปา) ต่อมาชาวบ้านจึงเรียก
ว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" ตามนามที่ได้พระพุทธรูปมา อีกองค์หนึ่งคือพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้กับชาวบางตะบูน ซึ่งคงจะเป็นพรรค
พวกหรือญาตพี่น้อง ชาวบางตะบูนจึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดเขาตะเครา และเรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา" จนปัจจุบันถ้าจะ
นับแต่ปีที่นำมานั้นรวมได้มากกว่า ๒๑๓ ปี

เมื่อกล่าวถึงหลวงพ่อ (พระพุทธรูป) แล้วก็ควรจะกล่าวถึงความเป็นมาของวัดด้วยว่าทำไมจึงได้ชื่อว่า "เขาตะเครา"
เขาตะเครานี้สันนิษฐานเอาว่ามีเจ้าสัวชาวจีนผู้หนึ่งมีความศรัทธามาก เมื่อได้พระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญแล้ว จึงสละ
ทรัพย์สร้างเป็นวัดขึ้น โดยให้ลูกน้องคนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ คอยควบคุม ซึ่งเป็นชาวจีนเหมือนกัน จีนผู้ควบคุมนี้ไว้หนวดเครายาว เพราะเป็นที่นิยมของชาวจีนสมัยโน้น ชาวบ้านเห็นจีนไว้เครายาวดังนี้จึงเรียกวัดและเขาผนวกกันเข้าไปว่า "วัดเขาจีนเครา" ต่อมาคำว่าจีนเป็นคำที่เรียกยากและไม่คุ้นหูของชาวบ้านในสมัยต่อมาจึงเปลี่ยน "จีน" เป็น "ตา" เพราะง่ายดีและเป็นชื่อที่เหมาะสม
ของคนที่มีอายุ เรียกว่าภาษาพาไป เมื่อกาลนานมาภาษาคงจะกร่อนเข้า "สระอา" เป็น "สระอะ" และได้เปลี่ยน "ตา" เป็น "ตะ" เมื่อ
สรุปได้แล้วได้ความตามนามปัจจุบันว่า "วัดเขาตะเครา"

วัดเขาเครา เป็นวัดเก่าแก่นานมากกว่า ๒๑๓ ปี ก็ย่อมจะต้องมีของดีของศักดิ์สิทธิ์ อยู่กับบ้างเป็นธรรมดาอภินิหารต่างๆ ที่คุณตา คุณ
ยายคนเก่าคนแก่ที่นั่นเล่าให้ฟังก็มีหลายเรื่องหลายราว

ปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
เล่าปรากฏการณ์โดย พระครูวชิรกิจโสภณ เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา เจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ดัง
กล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นวันเกิดของท่านพระครูฯ และได้มีการจัดงานฉลองฯ โดยคณะศิษย์ ซึ่งขณะนั้น
อยู่ระหว่างสร้างมณฑป และถัดจากวันเกิดของท่านพระครูฯ อีก ๒ วัน คือ ในคืนวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๗ ขณะท่านพระครูฯ กำลัง
จำวัด ได้นิมิต (ในฝัน) ว่าได้มีพระอาวุโสมากรูปหนึ่ง ได้นำถุงบรรจุทองคำยื่นให้กับท่านพระครูฯ และพระอาวุโสรูปนั้นได้พูดว่า “เอาไป” หลังจากนั้นพระอาวุโสมากรูปนั้นในนิมิตก็ได้จากไป...พอวันรุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๗ ท่านพระครูฯ ได้เล่าความฝัน (ในนิมิต) ดังกล่าวให้กับพระลูกศิษย์ฟัง พระลูกศิษย์วัดเมื่อได้ยินความฝันตามที่ท่านพระครูฯ เล่าให้ฟังจบแล้ว ก็ได้พูดขึ้นว่าสงสัย
ท่านพระครูฯ จะได้ลาภ(สักการะ) จากหมู่คณะผู้ศรัทธาฯ เป็นแน่

ต่อมาในวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ซึ่งเป็นวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๗ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.เศษ มีเณรลูกวัดรีบวิ่งมาบอก
กับท่านพระครูฯ ว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในโบสถ์ ท่านพระครูฯ และเณรรูปนั้น จึงได้รีบพากันไปที่โบสถ์ และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อ
หน้าท่านพระครูฯ ขณะนั้นก็คือ ได้เกิดไฟไหม้ลุกท่วมองค์หลวงพ่อทอง และไฟได้ลุกลามไหม้ขึ้นบนยอดฉัตร และด้ายสายสิญจน์ที่โยง
มาจากพระประธาน ในปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ดังกล่าว ได้เห็นไฟที่กำลังลุกท่วมองค์หลวงพ่อทองเป็นประกายรัศมีออกมา

ทองที่หุ้มองค์ท่านค่อยๆไหลหลุดลอกออกบางส่วน ดูน่าอัศจรรย์ และเมื่อนำทองที่ไหลลอกมาไปชั่งน้ำหนัก ปรากฎว่าได้ถึง ๙.๙ กิโล
กรัม ทำให้ได้แลเห็นพระพักตร์ชัดเจนขึ้นมาบ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีทองปิดหนามากจนองค์ท่านกลมทีเดียว!! ท่านพระครูฯ จึงได้นำ
ก้อนทองคำดังกล่าวมาทำเป็นลูกอมทองไหล หลวงพ่อทอง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปก้อนทองทรงกลมเนื้อเนียนแน่น และมีรูปถ่ายสีขาวดำ
ของหลวงพ่อทองติดอยู่ในรูปทรงกลม หุ้มด้วยเรซิ่นสีเหลืองใสหล่อเป็นรูปดอกบัว ลูกอมทองไหลดังกล่าวได้เปิดออกให้ประชาชนผู้
ศรัทธาฯ เช่าบูชา ทำให้มีรายได้เข้าวัดเป็นจำนวนเงินหลายสิบล้านบาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดได้นำไปสมทบสร้างมณฑป สร้างโรงเรียน
เดินระบบน้ำประปา อีกทั้งสมทบสร้างศาลาเอนกประสงค์

***หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ "หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา" สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อแต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะ เดิมช่างภาพคนนี้จึงไปลอกผิวเปลวทองที่ติดหน้าพระพักตร์หลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพ
คนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวง
พ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ทองที่ปิดองค์พระนั้นหนามาก จนทำให้ไม่เห็นองค์เดิมว่าเป็นพระพุทธรูป
หล่อหรือปูนปั้น ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า"ทอง" ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็นหลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา

หมายเหตุ จากหนังสืออนุสรณ์ ผ้าป่า ๘๔,๐๐๐ กอง วัดเขาตะเครา เพชรบุรี และหนังสือหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น